วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประวัติเทควันโด

ประวัติความเป็นมาและพัฒนาการของเทควันโด
 
เทควันโดเป็นศิลปะการต่อสู้ประจำชาติเกาหลีซึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนาน จนอาจกล่าวได้ว่าประวัติศาสตร์ของเทควันโด ก็คือ ประวัติศาสตร์ของชนชาติเกาหลีนั่นเอง เรื่องราวในอดีตที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของเทควันโด อาจแบ่งออกได้เป็น 4 ยุค ได้แก่ ยุคบรรพกาล ยุคกลาง ยุคใหม่ และยุคปัจจุบัน
 1.
เทควันโดยุคบรรพกาล
 
มนุษย์โดยธรรมชาติแล้วย่อมมีสัญชาติญาณในการปกป้องตนเองและเผ่าพันธุ์ จึงพยายามที่จะพัฒนาความสามารถในการต่อสู้อยู่ตลอดเวลา ในสมัยที่มนุษย์ยังไม่มีอาวุธก็ต้องใช้การต่อสู้กันด้วยมือเปล่า และแม้เมื่อมนุษย์สามารถประดิษฐ์อาวุธขึ้นใช้แล้วก็ยังคงอาศัยการฝึกฝนการต่อสู้ด้วยมือเปล่าในการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกาย นอกจากนี้ยังนำมาประลองแข่งขันเป็นการแสดงความสามารถโอ้อวดกันในงานประเพณีต่าง ๆ เช่น การเฉลิมฉลองหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว หรือในที่ชุมนุมชนในโอกาสสำคัญอื่น ๆ เป็นต้น
 
ชนชาติเกาหลี สืบเชื้อสายมาจากชาวเผ่ามองโกล ซึ่งอพยพย้ายถิ่นจากใจกลางทวีปเอเชียมายังคาบสมุทรเกาหลีนานกว่า 2,000 ปีมาแล้ว เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาวมองโกลก็คือ ความชำนาญ และผูกพันกับการขี่ม้า การใช้ชีวิตบนหลังม้า รวมถึงการต่อสู้บนหลังม้าด้วย เนื่องจากต้องเลี้ยงสัตว์และเดินทางไปในทุ่งหญ้าและพื้นที่อันทุรกันดารเป็นระยะทางไกล ๆ ทางตอนเหนืออยู่เสมอ ส่วนประชาชนในพื้นที่ทางตอนใต้อันอุดมสมบูรณ์กว่า ได้ยึดอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และทิ้งชีวิตบนหลังม้าไป สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยให้พัฒนาการของวิธีการต่อสู้ของนักรบทางภาคเหนือ และภาคใต้ของเกาหลีมีความแตกต่างกัน ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
 
ภูมิศาสตร์ของคาบสมุทรเกาหลีนั้นมีความสำคัญยิ่งทางยุทธศาสตร์ เพราะเป็นสะพานเชื่อมและอยู่กึ่งกลางระหว่างแผ่นดินจีนทางตะวันตก มองโกลทางตะวันตกเฉียงเหนือ รัสเซียทางเหนือ และหมู่เกาะญี่ปุ่นทางทิศตะวันออก ซึ่งต่างก็พยายามแผ่อำนาจและผลัดกันยึดครองดินแดนผืนนี้อยู่เสมอ ประวัติศาสตร์ของเกาหลีจึงเต็มไปด้วยการรบพุ่ง ต่อสู้แย่งชิง และปกป้องบ้านเมืองของตนมาตลอด
 
ในยุคเริ่มแรกของอารยธรรมเกาหลี ( ประมาณ 50 ปีก่อนคริสตกาล ) นั้น ปรากฏว่าได้มีการแบ่งแยกดินแดนออกเป็น 3 อาณาจักร ได้แก่ โคกุลเยอ ทางภาคเหนือ เบคเจทางภาคใต้ และซิลลาทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ อาณาจักรทั้งสามต่างก็พยายามชิงความเป็นใหญ่แต่เพียงผู้เดียว จึงพยายามเสริมสร้างกำลังกองทัพและฝึกฝนทหารของตนให้มีความเข้มแข็งอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โคกุลเยอ และซิลลา ได้สร้างกองทัพนักรบหนุ่มขึ้น เรียกว่า ชูอิโซนินและ ฮวารังโด ตามลำดับ ซึ่งมีการฝึกฝนการต่อสู้ด้วยมือและเท้า รวมถึงการใช้อาวุธนานาชนิด

 
กล่าวถึงอาณาจักรโคกุลเยอทางเหนือ ซึ่งมีเขตแดนติดต่อกับจีน จึงต้องพัฒนากำลังทหารไว้ป้องกันประเทศ นักรบในกองกำลังชูอิโซนินนี้เรียกว่า ซอนเบซึ่งประวัติศาสตร์กล่าวว่าพวกซอนเบนี้จะอยู่รวมกันเป็นหมู่เหล่า มีการศึกษาประวัติศาสตร์ และศิลปะต่าง ๆ นอกเหนือจากวิชาการต่อสู้ และยังใช้เวลาในยามสงบช่วยพัฒนาบ้านเมืองด้วยการสร้างถนนและป้อมปราการต่าง ๆ วิชาการต่อสู้ของพวกซอนเบนี้เรียกว่า เทคเคียน ซึ่งมีลักษณะเด่นที่การใช้เท้าเตะ เนื่องจากในการขี่ม้าจะต้องใช้มือข้างหนึ่งควบคุมสายบังคับม้า และอีกข้างหนึ่งถืออาวุธและธนู จึงเน้นการใช้เท้าในการต่อสู้และช่วยในการทรงตัวบนหลังม้า หลักฐานภาพวาดตามฝาผนังในสุสานโบราณหลายแห่งแสดงให้เห็นถึงการต่อสู้และทักษะต่าง ๆ ของเทคเคียน ซึ่งนอกจากจะใช้ในการรบแล้ว ยังนิยมใช้เป็นท่ากายบริหาร และยังนำมาเป็นเกมกีฬาที่นิยมประลองกันในโอกาสต่าง ๆ กันอีกด้วย
 
ส่วนอาณาจักรซิลลาทางตอนใต้ ก็ถูกรุกรานจากโคกุลเยอทางตอนเหนือ และเบคเจทางตะวันตก จึงต้องเสริมสร้างกองทัพที่เข้มแข็งไว้เช่นกัน โดยมีนักรบฮวารัง ซึ่งมีกฎระเบียบการปกครองและการฝึกฝนทักษะการต่อสู้คล้ายคลึงกับพวกซอนเบ การคัดเลือกชายหนุ่มเข้ามาเป็นฮวารังนั้นจะต้องมีการทดสอบฝีมือการต่อสู้ได้แก่ การฟันดาบ มวยปล้ำ ขี่ม้า และการต่อสู้ด้วยมือเปล่าที่เรียกว่า ซูบัก ซึ่งเน้นการใช้ทักษะของมือเป็นหลัก เนื่องจากชาวซิลลามีความผูกพันกับพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก วัดโบราณในเมืองเกียงจูซึ่งเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรซิลลาจึงมีรูปปั้นยักษ์ทำหน้าที่ทวารบาล ( คึมกัง ย็อกซ่า ) แสดงท่าต่อสู้ซึ่งมีท่ามือที่คล้ายคลึงกับ เทควันโดในปัจจุบัน
 
แม้จะมีรากฐานความเป็นมาแตกต่างกัน แต่ทั้งเทคเคียน และซูบัก ก็เริ่มมีการผสมผสานกลมกลืนกันโดยเทคเคียน ได้เผยแพร่จากอาณาจักรโคกุลเยอเข้ามาในอาณาจักรซิลลา เมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 4 และได้รับความนิยมแพร่หลายไปสู่สามัญชนทั่วไป อาณาจักรซิลลาเริ่มมีความเข้มแข็งกว่าอาณาจักรอื่น ๆ โดยมีขุนพลฮวารังที่มีชื่อเสียง เช่น คิมยูซิน และ คิมชุนชู เป็นกำลังสำคัญในการรบ เพื่อรวบรวมอาณาจักรทั้งสามในคาบสมุทรเกาหลีให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้สำเร็จในปี ค.ศ. 676 (พ.ศ. 1219) และราชวงศ์ซิลลายังปกครองดินแดนเกาหลีต่อมาอีกเกือบ300 ปี

 2.
เทควันโดยุคกลาง
 
ในสมัยราชวงศ์คอร์โย ซึ่งปกครองประเทศเกาหลีต่อจากราชวงศ์ซิลลา ในระหว่างปี ค.ศ.918 – 1392 มีการพัฒนารูปแบบการฝึกเทคเคียนและซูบักอย่างเป็นระบบ และใช้ในการทดสอบเพื่อคัดเลือกทหารเข้ากองประจำ การด้วย มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่แสดงว่าวิชาการต่อสู้ด้วยมือเปล่านี้ได้พัฒนาถึงขั้นใช้เป็นอาวุธฆ่าคนในสงครามได้จริง ทักษะความสามารถในการต่อสู้ได้กลายเป็นสิ่งสำคัญในการเลื่อนยศและตำแหน่งของทหาร ( จึงเป็นที่มาของการจัดระบบแบ่งระดับสายในเทควันโด คล้ายกับชั้นยศทหารในกองทัพ : ผู้เรียบเรียง ) มีการบันทึกถึงระบบกติกาการต่อสู้แข่งขันคล้ายกับกีฬาในปัจจุบัน ในการทดสอบพละกำลัง นักรบชื่อ ลียี่หมิน ใช้กำปั้นข้างขวาชกที่เสาและสามารถทำให้หลังคาสั่น สะเทือน
 
จนกระเบื้องมุงหลังคาหล่นลงมาแตกกระจาย เขาสามารถชกทะลุกำแพงที่ก่อด้วยดินเหนียว และในการประลองเขาชกเข้าที่กระดูกสันหลังของคู่ต่อสู้ซึ่งทำให้ถึงกับเสียชีวิต จึงถือได้ว่าผู้ฝึกวิชาการต่อสู้ด้วยมือเปล่าสามารถทำการต่อสู้เทียบเท่ากับการใช้อาวุธสังหารทีเดียว กษัตริย์ในราชวงศ์นี้ทรงโปรดการประลองต่อสู้เพื่อคัดเลือกทหารเป็นอย่างยิ่ง มีการจัดการประลองตามหัวเมืองต่าง ๆ ที่เสด็จไปประภาสให้ทอดพระเนตรอยู่เป็นประจำ อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายราชวงศ์ได้มีการนำอาวุธปืนเข้ามา ใช้ในกองทัพ และทำให้บทบาทของการประลองต่อสู้ด้วยมือเปล่าลดความสำคัญลงไปมาก

 3.
เทควันโดยุคใหม่
 
ในยุคนี้ ราชวงศ์โชซัน ปกครองประเทศเกาหลีจาก ค.ศ. 1392 – 1910 ต่อจากนั้นเกาหลีจึงตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิญี่ปุ่นจนถึงปี ค.ศ. 1945 ราชวงศ์โชซันปกครองประเทศด้วยลัทธิขงจื้อ ซึ่งปฏิเสธพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ และให้ความสำคัญแก่ศิลปะการต่อสู้น้อยกว่างานทางด้านวรรณกรรม การประลองฝีมือเพื่อคัดเลือกทหารเข้าประจำการยังคงมีอยู่ แต่ได้รับความสนใจจากกษัตริย์น้อยลงมาก บ้านเมืองจึงเริ่มอ่อนแอลง จนเมื่อเกาหลีถูกรุกรานจากญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1592 พระเจ้าเจียงโจ จึงได้รื้อฟื้นศิลปะการต่อสู้ขึ้นมาขนานใหญ่ มีการจัดทำตำรามาตรฐานวิชาการต่อสู้ที่เรียกว่า มูเยโดโบ ทองจิ ซึ่งในเล่มที่ 4 มีภาพประกอบและได้กล่าวอธิบายถึงการเคลื่อนไหว ต่อเนื่องซึ่งมีลักษณะคล้ายท่ารำพุมเซ่ในปัจจุบัน มีการสอนวิชาการต่อสู้ให้กับเยาวชน คล้ายกับเป็นกีฬาหรือการละเล่นชนิดหนึ่ง
 
เมื่อญี่ปุ่นเข้ายึดครองประเทศเกาหลี การฝึกวิชาการต่อสู้กลายเป็นสิ่งต้องห้าม จึงต้องแอบฝึกและมีการถ่ายทอดกันมาอย่างลับ ๆ เฉพาะในหมู่ลูกหลานเท่านั้น จนเมื่อประเทศญี่ปุ่นแพ้สงคราม โลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1945 ประเทศเกาหลีจึงได้รับอิสรภาพอีกครั้ง แต่จากการที่ทางการญี่ปุ่นได้คุมขังและทรมาน ตลอดจน สังหารชาวเกาหลี ไปเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้สืบทอดวิชาการ ต่อสู้เหลือเพียงจำนวนน้อยมากจนเป็นที่หวั่นเกรงกันว่าจะสาบสูญไป อีกทั้งญี่ปุ่นยังได้พยายามกลืนวัฒนธรรมของเกาหลีด้วยการบังคับให้ชาวเกาหลีฝึกคาราเต้ และยูโดแทน

 4.
เทควันโดยุคปัจจุบัน
 
ภายหลังจากที่ได้รับอิสรภาพ ได้มีความพยายามที่จะฟื้นฟูศิลปะการต่อสู้ของเกาหลีขึ้นมาใหม่ ปรมาจารย์ ซองดุคคิ ได้แสดงวิชาเทคเคียนให้ประธานาธิบดี ลีซึงมาน ชมในงานฉลองวันเกิดของท่าน ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากวิชาคาราเต้ ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้มีการก่อตั้งสำนัก ( โดจัง ) ขึ้นหลายแห่ง แต่ก็อยู่ได้อย่างไม่มั่นคงนัก จนเมื่อเกิดสงครามเกาหลี และประเทศเกาหลีถูกแบ่งแยกออกเป็นสองประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ( เกาหลีเหนือ ) ซึ่งปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์แบบรัสเซีย และ สาธารณรัฐเกาหลี ( เกาหลีใต้ ) ซึ่งปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยแบบสหรัฐอเมริกา สภาพทางเศรษฐกิจในเกาหลีใต้จึงเริ่มฟื้นตัว บรรดานักประวัติศาสตร์และปรมาจารย์เจ้าสำนักต่าง ๆ โดยการนำของนายพล เชฮองฮี ได้ร่วมมือกันก่อตั้งสมาคมเทควันโดแห่งสาธารณรัฐเกาหลีได้เป็นผลสำเร็จในปี ค.ศ. 1954 ในช่วงสั้น ๆ จากปี ค.ศ. 1961 - 1965 สมาคมได้เปลี่ยนไปใช้ชื่อสมาคมเทซูโดแทน แต่ก็เปลี่ยนกลับมาใช้ชื่อเทควันโดเช่นเดิมอีก กีฬาเทควันโดเริ่มเป็นที่นิยมแพร่หลายอีกครั้ง มีการจัดการแข่งขันขึ้นทั้งในระดับประถมศึกษา, มัธยมศึกษา และระดับมหาวิทยาลัย รวมทั้งได้บรรจุในหลักสูตรการฝึกทหารของกองทัพ ในสงครามเวียดนาม ทหารเกาหลี ซึ่งร่วมรบอยู่ในกองทัพของสหรัฐได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการต่อสู้ด้วยมือเปล่าในระยะประชิดตัว จึงได้รับความสนใจจากนานาประเทศ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา คุณค่าของเทควันโดได้เป็นที่ประจักษ์ในฐานะที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศเกาหลี ประธานาธิบดี ปาร์คจุงฮี จึงได้ประกาศยกย่องให้เทควันโดเป็นกีฬาประจำชาติ ( คุคคิ เทควันโด ) ในปี ค.ศ. 1971 ( พ.ศ. 2514 ) ซึ่งจุดเด่นของเทควันโด นอกจากจะเป็นการฝึกฝนพละกำลังทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างและพัฒนาบุคลิกภาพให้แก่เยาวชนอีกด้วย
 
ในปี ค.ศ. 1972 รัฐบาลเกาหลีได้สถาปนาสำนัก คุคคิวอน ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางในการสอบขึ้นทะเบียนสายดำ และเผยแพร่กีฬาเทควันโดไปทั่วโลก โดยมี ดร.อุนยองคิม ผู้แทนรัฐบาลเป็นประธาน มีการจัด การแข่งขันเทควันโดในระดับต่าง ๆ มากถึง 350 ครั้งในปีนั้น รวมทั้งการแข่งขัน เทควันโดชิงแชมป์โลกครั้งที่ 1 ด้วย นอกจากนั้นเพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพของบุคลากรผู้ฝึกสอนเทควันโด จึงได้มีการจัดตั้งวิทยาลัยเทควันโดโลกขึ้นมาเป็นหน่วยงานย่อย มีหน้าที่เฉพาะด้านการฝึกอบรม และจัดทำตำราเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก
 
เทควันโด ได้รับความนิยมเผยแพร่ออกไปอย่างรวดเร็วทั่วโลก ทั้งในหมู่ทหาร ตำรวจ และนักเรียนนักศึกษา ในปี ค.ศ. 1977 มีจำนวนสายดำในประเทศเกาหลีถึง 3,620,000 คน และอีก 160,000 คนทั่วโลก ทีมนักแสดงสาธิตเทควันโดทีมชาติเกาหลี ได้มีส่วนสำคัญในการเผยแพร่เทควันโด และเกียรติภูมิของประเทศเกาหลีให้เป็นที่รู้จักทั่วไป
 
เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ปี 1973 มีการประชุมผู้แทนสมาคมเทควันโดจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจำนวน 50 ประเทศ และมีมติให้ก่อตั้งสหพันธ์เทควันโดโลกขึ้น โดยมี ดร.อุนยองคิม เป็นประธานสหพันธ์อีกเช่นกัน ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกถึง 157 ประเทศ และยังคงเพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ สหพันธ์มีหน้าที่ดูแลการแข่งขันเทควันโดชิงแชมป์โลก ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุก ๆ 2 ปี และยังมีการจัดตั้งสหพันธ์เทควันโดแห่งเอเซีย และทุกทวีป ซึ่งจะจัดการแข่งขันระดับภูมิภาค ทุก ๆ 2 ปี สลับกับการแข่งขันชิงแชมป์โลก
 
นอกจากนั้น เทควันโด ยังได้รับการรับรองจากสถาบันต่าง ๆ ดังนี้
 1.
ค.ศ. 1975 สหพันธ์เทควันโดโลกได้เข้าเป็นสมาชิกของ สมาคมสหพันธ์กีฬาสากล ( GAISF )
 2.
ค.ศ. 1976 เป็นสมาชิกของสภากีฬาทหารโลก ( CISM )
 3.
ค.ศ. 1979 ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการโอลิมปิคสากล ( IOC )
 4.
ค.ศ. 1982 ได้รับการบรรจุเป็นกีฬาสาธิตในโอลิมปิคเกมส์ ( กรุงโซล 1988 )
 5.
ค.ศ. 1984 ได้รับการบรรจุเป็นกีฬาสาธิตในเอเชียนเกมส์ ( กรุงโซล 1986 )
 6.
ค.ศ. 1989 ได้รับการบรรจุเป็นกีฬาบังคับในโอลิมปิคเกมส์ ( นครซิดนีย์ 2000 ) ซึ่งนับเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่ ที่สุดสำหรับกีฬาที่เพิ่งจะเผยแพร่ไปทั่วโลกได้เพียง 30 ปีเศษ เท่านั้น
 
ในปี ค.ศ. 2004 มีการเปลี่ยนแปลงอันสำคัญได้แก่ ตำแหน่งประธานสหพันธ์เทควันโดโลก และสำนัก คุคคิวอน เนื่องมาจาก ดร.อุนยองคิม ไม่สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ นับเป็นการสิ้นสุดยุคสมัยอันยาวนาน ของท่าน โดยประธานสหพันธ์เทควันโดโลกคนปัจจุบันได้แก่ นาย ชุงวอนโชว ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ของสหพันธ์ฯ และประธานสำนักคุคคิวอนคนปัจจุบันได้แก่ ปรมาจารย์ อึมวุนเกียว สายดำดั้ง 10 ซึ่งเลื่อนขึ้นมาจากตำแหน่งรองประธาน ฯ
 5.
เทควันโดในประเทศไทย
 
สำหรับในประเทศไทย เริ่มรู้จักกีฬาเทควันโดเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2508 โดยคณาจารย์จากสาธารณรัฐเกาหลีจำนวน 6 ท่าน ได้เดินทางมาทำการสอนเทควันโดให้กับทหารสหรัฐอเมริกาซึ่งตั้งฐานทัพอยู่ในประเทศไทยในเวลานั้น เพื่อทำการรบในสงครามเวียดนาม ได้แก่ที่ ตาคลี ( นครสวรรค์ ) นครราชสีมา อุดรธานี อุบลราชธานี และที่สัตหีบ ท่านอาจารย์เหล่านั้นได้เปิดสอนเทควันโดให้กับประชาชนทั่วไปด้วย บางท่านได้มาทำการสอนอยู่ที่สโมสร Y.M.C.A. ราชกรีฑาสโมสร และโรงยิมหลังโรงหนังลิโด สยามสแควร์ แต่เมื่อกองทัพสหรัฐถอนตัวออกจากประเทศไทย อาจารย์ทั้งหมดก็ได้ย้ายออกไปจากประเทศไทยด้วย จนถึงปี พ.ศ. 2516 อาจารย์ ซองคิยอง จึงได้รับมอบหมายจากสมาคมเทควันโดแห่งสาธารณรัฐเกาหลีให้เดินทางมาเปิดสอนเทควันโดที่ราชกรีฑาสโมสร และในปี พ.ศ. 2519 ได้เปิดสำนักขึ้นที่โรงเรียนศิลปะและการป้องกันตัวอาภัสสา ถนนเพลินจิต โดยการสนับสนุนของคุณมัลลิกา ขัมพานนท์ นักเทควันโดชั้นสายดำ ผู้ซึ่งเห็นคุณค่าของกีฬานี้ที่มีต่อสุขภาพ และสังคมส่วนรวม กิจการโรงเรียนได้เจริญก้าวหน้ามาตามลำดับ จนได้รับการรับรองจากกระทรวง ศึกษาธิการและสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ คุณมัลลิกาและอาจารย์ซองได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรยังสถาบันหลายแห่ง เช่น โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ และโรงเรียนช่างฝีมือทหาร เป็นต้น ขณะนั้นมีผู้ฝึกวิชาเทควันโดรวมกันประมาณ 5,000 คน ในปี พ.ศ. 2521 จึงได้ก่อตั้งสมาคมส่งเสริมศิลปะป้องกันตัวเทควันโดขึ้นที่โรงเรียนอาภัสสา ฯ ซึ่งสมาชิกได้มีมติเลือกคุณสรยุทธ์ ปัทมินทร์วิโรจน์ เป็นนายกสมาคมฯ คนแรก และคุณมัลลิกา ฯ เป็นอุปนายกสมาคม สมาคม ฯ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมเทควันโดแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2528 และเข้าเป็นสมาชิกสหพันธ์เทควันโดโลก สหพันธ์เทควันโดเอเซีย สหพันธ์เทควันโดอาเซียน และอยู่ในสังกัด การกีฬาแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น